วิธีเตรียมตัวง่าย ๆ เมื่อต้องไปฝึกงาน Internship
ถือเป็นโอกาสแรกของนักศึกษา ที่ได้ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานจริง มักสร้างความกังวลใจให้เราอยู่เสมอ จะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จึงไม่แปลกที่การฝึกงาน Internship จะสร้างความกังวลใจให้ใครหลายคน ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน จากอะไรดี การเรียนรู้ที่สะสมมาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจะถูกนำมาใช้ในนับจากนี้ หากเราใช้โอกาสตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งต้นให้ดีก็จะช่วยให้โอกาสของการทำงานเรามากและกว้างกว่าคนอื่น สมัครงานที่ไหนก็ได้เปรียบ
1. รู้ตัวเอง ตั้งต้นที่ความคิด
ก่อนจะไปเริ่มต้นที่ไหน เราต้องสำรวจความคิดเข้าใจความต้องการของก่อน ว่าเราอยากฝึกงานในตำแหน่งไหน ในสายงานแบบใด แล้วค่อยลิสต์ออกมาให้ชัด ถ้าไม่รู้ว่าชอบอะไร เริ่มจากสิ่งที่ไม่ชอบก่อนก็ได้ หรือถ้ายังตกตะกอนกับความชอบเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เลือกฝึกงานในสิ่งที่อยากลอง โดยไม่เอาความชอบหรือไม่ชอบมาเกี่ยว เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าสิ่งที่ชอบ พอทำแล้วจะยังชอบอยู่ไหม
โลกแห่งความจริงหลาย ๆ ครั้งพบว่าพอได้ทำในสิ่งที่ชอบเป็นงานจริง ๆ ก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เพราะฉะนั้นลองเลือกตำแหน่งในสิ่งที่อยากลอง อยากรู้อาจจะดีกว่า ที่สำคัญในฐานะเด็กฝึกงาน หากทำพลาดหรืออะไร ข้อตำหนิต่าง ๆ ยังน้อย เพราะถือเป็นครั้งแรก เข้าใจถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้
2. รู้เขารู้เรา ทำความรู้จักองค์กรที่ต้องการฝึกงาน
รู้เรากันไปแล้วในข้อแรก ทีนี้มารู้เขากันบ้างดีกว่า
เขาในที่นี้คือ องค์กรหรือบริษัทที่คุณอยากไปฝึกงานหมายถึงพิจารณาดูว่า ตำแหน่งงานที่เราสนใจนั้นเปิดรับที่ไหนบ้าง แล้วที่ไหนจะตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด แน่นอนว่าไม่มีที่ไหนตรงใจได้เต็มร้อยอยู่แล้ว คิดแบบเผื่อใจไว้เลย
แน่นอนว่าองค์กรระดับท็อปยิ่งมีการแข่งขันสูง แต่การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสได้มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการติดตามโซเชียลมีเดียของบริษัทนั้นให้ดี จะได้ไม่พลาดช่วงที่เขาเปิดรับสมัคร โดยระหว่างนั้นก็ลงเรียนคอร์สออนไลน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งงานดังกล่าว พร้อมดูว่าทิศทางบริษัทไปทางไหน ก็ศึกษาเรื่องนั้นเพิ่ม รวมถึงศึกษาวัฒนธรรมองค์กรให้ดีว่าตรงกับที่เรากำลังมองหาจริงไหม
3. อัปเดตพอร์ตและเรซูเม่ให้พร้อมเสมอ
อย่าคิดว่าพอร์ตและเรซูเม่ช่วงฝึกงานไม่สำคัญ โปรเจกต์หรืองานต่าง ๆ ที่ทำระหว่างอยู่มหาวิทยาลัยที่เราภูมิใจ สามารถนำมาใส่ไว้ในนี้ได้เรื่อย ๆ เพราะเป็นหลักฐานที่จับต้องได้และพรูฟได้มากที่สุดแล้ว ในสายตาของผู้ที่รับคุณเข้าฝึกงาน รวมถึงการเขียนแนะนำตัว อธิบายสั้น ๆ ว่าเราเป็นใคร ชอบงานด้านไหน มีสกิลอะไร ทำไมถึงเลือกมาฝึกงานที่นี่
สิ่งเหล่านี้ถ้าทำจนเรื่อย ๆ จะยิ่งเพิ่มทักษะการสื่อสารให้อีกฝ่ายสนใจได้ โดยทั้งหมดนั้นต้องบอกเล่าด้วยความจริงใจ จากสิ่งที่เราชอบที่เราสนใจจริง ๆ อย่าสร้างภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งความประทับใจ เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวเองดีที่สุดแล้ว ทั้งในวันนี้และระยะยาว
4. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ก่อนจะไปฝึกงานหนึ่งสิ่งที่ต้องตั้งจิต ตั้งมั่น ตั้งใจให้พร้อม คือการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เข้าใจว่าการฝึกงานของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในวิชาบังคับ ที่จำเป็นต้องทำ บางคนอาจจะคิดว่าก็ทำ ๆ ไปให้จบให้ครบตามหน่วยกิต แต่ไหน ๆ มีโอกาสแล้ว มาลองทำอย่างตั้งใจและกำหนดเป้าหมายจะดีกว่า
พอเป็นเรื่อง “ตั้งเป้าหมาย” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าต้องเป็นเรื่องชวนเครียด จริง ๆ แล้วเป้าหมายมีได้หลากหลายขนาด เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ รายวันก็ได้ เช่น ตั้งคำถามกับพี่ที่ดูแลเราระหว่างฝึกงานวันละ 1 คำถาม หรือลองทำงานใหม่ ๆ ในสกิลที่เราไม่เคยมี เป็นต้น คือไม่ต้องวางเป้าใหญ่โตเพื่อกดดันตัวเอง เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ในสโคปงานของเด็กฝึกงาน
5. เปิดใจ เปิดรับการเรียนรู้
ทัศนคติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของการฝึกงาน พยายามทำตัวเป็นภาชนะเปล่าให้ได้มากที่สุด มาแบบเปิดรับ Open พร้อมเรียนรู้ทุกอย่าง โดยไม่ตัดสินอะไร จะช่วยให้การฝึกงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลองทำ ลองรู้ ลองดูก่อน รวมถึงลองที่จะไม่รู้ด้วยก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างเรียนรู้ได้อยู่แล้ว ต้องยอมรับอย่างเข้าใจว่า การไม่รู้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนี่เป็นครั้งแรกของเราเหมือนกัน